คิวเรเตอร์ Curator หรือเราเรียกว่าภัณฑารักษ์จนติดปาก มีบทบาทสำคัญมากไปกว่าที่คนโดยทั่วไปเข้าใจในฐานะของ ผู้ดูแลศิลปะวัตถุ หรือ โบราณวัตถุ ในขอบเขตของงานศิลปะร่วมสมัย ภัณฑารักษ์คือ ผู้คัดเลือก (selector) และ ผู้ตีความ (interpreter) ผลงานศิลปะสำหรับการจัดนิทรรศการในแต่ละครั้ง
ไม่เพียงมีหน้าที่แค่นั้นนะครับ งานของคิวเรเตอร์ยังต้องทำงานในด้านผู้จัดการโครงการ ผู้จัดการด้านการซื้อขาย การจ้างศิลปินทำงาน นักวางแผนนิทรรศการ นักการศึกษา ผู้จัดการและผู้จัดงาน อย่างไรก็ตามหน้าที่ของคิวเรเตอร์ยังลงรายละเอียดไปจนถึงเป็นคนเขียนเนื้อหานิทรรศการที่นำเสนอบนผนังในห้องนิทรรศการ รายละเอียดในสูจิบัตร บทความขนาดสั้นๆในสูจิบัตร รวมทั้งเนื้อหาของนิทรรศการทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมาจากการที่คิวเรเตอร์ต้องวิจัยให้รู้ลึกเพื่อสรุปเนื้อหาที่กระชับสู่ผู้ชม ที่ปัจจุบันมีสื่อมากกว่าสิ่งพิมพ์นั่นคือ เนื้อหานิทรรศการในเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ หรือการเขียนเนื้อหาที่จะประชาสัมพันธ์ให้กับนักข่าว เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และตรงกับความต้องการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ในบางครั้งคิวเรเตอร์ต้องให้ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์จากนักข่าว หรือการจัดเสวนาประกอบนิทรรศการ ที่อาจจะมีการพูดคุย เปิดประเด็นกับนักวิจารณ์ ศิลปิน นักวิชาการทางศิลปะ เพื่อให้นิทรรศการได้สร้างการเรียนรู้สู่สังคมด้วย
คิวเรเตอร์อาจจะมีการติดต่อกับผู้สนับสนุนทุนทั้งที่มาในรูปแบบของเงินหรือการสนับสนุนในรูปแบบการทำความร่วมมือในด้านต่างๆ การให้ใช้สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ประกอบนิทรรศการ เช่น จอทีวี ไฟ อุปกรณ์ด้านเสียง เป็นต้น ดังนั้น หน้าที่ของคิวเรเตอร์ของนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ต้องมีทักษะหลายด้านเพื่อนำมาใช้ในการทำนิทรรศการให้มีความน่าสนใจต่อสังคม สิ่งสำคัญคือ ความคิดสร้างสรรค์ของคิวเรเตอร์นี่แหละครั้งที่สามารถสร้างความแตกต่างและ จุดเด่นให้เกิดขึ้นได้ทั้งงานของศิลปิน และตัวคิวเรเตอร์ด้วยครับ
Comentarios